ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นอีก 1 ตำแหน่งที่สำคัญในบริบทการเมืองไทยวันนี้ กลายเป็นสปอตไลท์ในระหว่างการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมฝั่งประชาธิปไตย หรือ กลุ่มขั้วฝ่ายค้านเดิม แม้วันนี้เราได้ข้อสรุปแล้วว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีปมร้อนชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ระหว่างพรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย จนเกิดเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดีย ในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง น่าสนใจไม่น้อย
ส่งผลให้ แฮชแท็ก #ประธานสภา ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพูดคุยผ่านช่องทางโซเชียลอื่นๆ อีก
บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์จากการฟังเสียงประชาชนในสังคมออนไลน์ ผ่านเครื่องมือ DXT360 โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 5 กรกฎาคม 2566 พบว่า มีค่า Buzz ซึ่งเป็นการกล่าวถึง (Mention) รวมกับการมีส่วนร่วม (Engagement) ในเรื่องประธานสภาฯ สูงถึง 16,287,997 ครั้ง โดย Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่มี Buzz มากที่สุด อ้างอิงโดยจากผลการรายงานใน Digital News Report ของ Reuters พบว่าคนไทยสนใจบริโภคข่าวผ่านทางการรับชมวิดีโอในช่องทางออนไลน์กว่า 40% เมื่อเทียบกับการอ่าน หรือฟังข่าว ซึ่งจากสัดส่วนการรับชมวิดีโอออนไลน์จากทั่วโลก พบว่าการรับชมผ่านช่องทาง Facebook ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งในกลุ่มผู้ชมอายุ 25 – 34 ปี และ 35 ปีขึ้นไป
ช่วงก่อนวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ โดยพรรคก้าวไกล ได้ออกมาเคลื่อนไหวถึงแนวทางของพรรค โดย เสนอชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พรรคก้าวไกล เข้าชิงตำแหน่งประธานสภาฯ ส่วนพรรคเพื่อไทยแถลงยืนยันขอตำแหน่งประธานสภาฯ โดยมองว่าพรรคก้าวไกลซึ่งได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคอันดับ 2 ควรได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ด้วยสูตร 14 + 1 หมายถึง ได้รัฐมนตรี 14 ตำแหน่ง บวกอีกหนึ่งคือประธานสภาฯ
กรณีนี้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์บนโซเชียลอย่างกว้างขวาง จนเกิดแฮชแท็ก #ประธานสภา ได้รับความสนใจในหลายช่องทางอีกครั้ง ส่งผลให้ประเด็นนี้มี Buzz ขึ้นสูงสุดในวันที่ 4 ก.ค.ซึ่งเป็นวันโหวตเลือกประธานสภาฯ
ฝ่ายสนับสนุนพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของพรรคเพื่อไทย โดยให้เหตุผลว่า ประธานสภาฯ ต้องมาจากพรรคที่ชนะโหวตเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ไม่ว่าจะชนะมากกว่ากี่คะแนนเสียง ผู้ชนะคือผู้ชนะ พรรคเพื่อไทยควรยอมรับผลการตัดสินของประชาชน ส่วนฝ่ายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั้นความคิดเห็นแตกออกเป็นสองฝ่าย โดยมีผู้ที่เห็นด้วยกับแนวคิดและผู้ที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ควรจะเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย และบางส่วนรู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจของพรรค รวมถึงเป็นเหตุผลในการตัดสินใจว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่เลือกพรรคเพื่อไทยอีกต่อไป
สุดท้ายแล้ว พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 3 ก.ค. 66 พร้อมเสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ โดย ส.ส. ก้าวไกล เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ ส.ส. เพื่อไทย เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเคลื่อนไหวบนโซเชียลอีกครั้ง และได้รับ Buzz สูงสุดถึง 1,574,177 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนให้ความสนใจและติดตามการเลือกประธานสภาฯ อย่างใกล้ชิด
แม้ทางออกจะดูเป็นไปในทิศทางที่ดีสำหรับทั้งสองพรรค แต่ประชาชนบางส่วนไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เนื่องจากตามสถิติ นับตั้งแต่ประธานสภาฯ คนแรก ประธานสภาฯ ล้วนมาจากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง ยกเว้นสภาฯ ชุดปี 2562 ที่มีพรรคพลังประชารัฐ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยกโควต้านี้ให้กับนายชวน หลีกภัย ซึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอันดับ 4 ในขณะนั้น (ที่มา : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)
ผลการเลือกประธานสภาฯ สรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีมติเอกฉันท์ให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ โดยจากเสียงโซเชียลในช่วงก่อนและหลังการคัดเลือกประธานสภาฯ ที่มีต่อ ‘วันนอร์’ นั้นค่อนข้างแตกต่างในบางแง่มุม ในช่วงก่อนการสรุปผล เสียงจากโซเชียลบางส่วนมองว่า ถึงแม้มองที่ตัวบุคคลที่ดูเหมาะสมกับตำแหน่งแล้วในหลายด้าน แต่ยังขัดกับหลักการที่ประธานสภาฯ นั้น ควรมาจากพรรคอันดับหนึ่ง เสียงบางส่วนจึงเห็นว่าการที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแผน ไม่เสนอผู้เข้าชิงจากพรรคตน แต่เป็นจากพรรคอันดับ 3 แทนนั้น เพราะเหตุใดกันแน่?
อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนร่วมแสดงความยินดีและคิดว่า นายวันมูหะมัดนอร์ เหมาะสมแล้วทั้งด้านประสบการณ์ คุณวุฒิ และวัยวุฒิ แต่บางส่วนยังคงมีความกังวล เนื่องจากต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง และมองว่ามีความคิดที่ขัดกับประเด็นส่วนบุคคล โดยเฉพาะประเด็น ‘ศาสนา’ และ ‘สมรสเท่าเทียม’ อย่างไรก็ตาม วันมูหะมัดนอร์ มะทา เคยนั่งตำแหน่งประธานสภาฯ มาแล้วเมื่อปี 2539 ในนามของพรรคความหวังใหม่ โดยตอนนั้นพรรคความหวังใหม่ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 125 ที่นั่ง
คำกล่าวที่ว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน’ ไม่เกินจริง เพราะตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน ประชาชนบนโซเชียลยังคงให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง Hashtag #ประธานสภา ได้รับ Buzz สูงสุดถึง 3,395,172 ครั้ง ตามด้วย #ก้าวไกล และ #เพื่อไทย สองพรรคหลักที่ถูกกล่าวถึง นอกจากนี้สื่อต่าง ๆ ได้นำเสนอข่าวการเลือกประธานสภาฯ โดยสื่อที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดบนโซเชียล คือ #ข่าวช่อง3 และ #เรื่องเล่าเช้านี้ นอกจากกระแสของพิธีกรอย่าง คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา และคุณพิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ หรือ ‘น้องไบรท์’ วิธีการนำเสนอข่าวด้วยวิดีโอ หรือ ไลฟ์สตรีม ยิ่งทำให้ได้รับการมีส่วนร่วม (Engagement) จากผู้ชมอย่างดีอีกด้วย
ในช่วงที่ประเด็นการเลือกประธานสภาฯ กลายเป็นกระแสโซเชียล ทำให้หลายบุคคล เพจ หรือแม้กระทั่งแบรนด์ต่าง ๆ ได้นำไปทำเป็นคอนเทนต์เพื่อเพิ่มยอด Engagement ของตนเองพร้อมทั้งยังแอบ Tie in สินค้าหรือบริการเข้าไปด้วย
บทสรุป ปมเจรจาต่อรองเรื่องเก้าอี้ #ประธานสภา จบลงด้วยดี แม้อาจจะไม่ถูกใจทุกคน แต่ส่วนใหญ่มองว่าเป็นทางออกที่ดี เป็นไปอย่างมีเอกภาพของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนและส่งแคนดิเดต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นไปตามคาดหวังหรือไม่ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเป็นใคร ? เร็วๆ นี้ คงได้รู้กัน!
ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight ในประเด็นการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร รวบรวมมาจาก DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 15 มิ.ย. – 5 ก.ค. 2566
Insight Data Analysts, Dataxet Limited